โครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ความหมายของโครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง การนำความรู้ ทักษะ ความชำนาญ และเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาหรือจัดการสารสนเทศ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล รวมไปถึงการนำเสนอสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้เกิดประโยชน์และสะดวกสบาย การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมมีความสะดวก รวดเร็ว ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า
โครงงาน คือ ภาระงาน ชิ้นงาน หรือกิจกรรมอิสระ ที่ผู้ทำโครงงานเลือกศึกษา หรือดำเนินการตามความสนใจ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ทักษะและประสบการณ์ของตนเอง โดยนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือกระบวนการอื่น ๆ เข้ามาใช้เพื่อหาคำตอบ หรือแก้ปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งผู้ทำโครงงานจะต้องมีการวางแผนการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินการมีระบบระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอนที่ได้วางไว้
โครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการพัฒนาผลงานที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้า และดำเนินการพัฒนาตามความสนใจและความถนัด โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การรวบรวมข้อมูลโดยสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต ประมวลผลด้วยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และการนำเสนอโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
ความสำคัญของโครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของทุก ๆ สังคมในโลกปัจจุบัน ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดผลต่าง ๆ ตามมา เช่น สังคมโดยส่วนใหญ่เปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมสารสนเทศ การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ มักขึ้นอยู่กับข้อมูลซึ่งได้จากระบบคอมพิวเตอร์
โครงงานที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นโครงงานที่มีความน่าเชื่อถือ ดำเนินกิจกรรมได้รวดเร็ว การนำเสนอที่มีความน่าสนใจ และเผยแพร่โครงงานได้สะดวก
โครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้นำความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการแก้ปัญหาพัฒนาคิดค้น และส่งเสริมให้นักเรียนมีความสนใจในการทำงานวิจัย ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า
หลักการทำโครงงานที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
หลักการทำโครงงานที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการนำความรู้เรื่ององค์ประกอบของโครงงานและขั้นตอนการทำโครงงาน มาประยุกต์ใช้กับโครงงานที่สนใจ เพื่อให้ได้ผลงานตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
องค์ประกอบของโครงงาน
โครงงานมีองค์ประกอบดังนี้
1. กระบวนการทำงาน
โครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศ จะต้องมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในกระบวนการทำงาน หรือขั้นตอนในการทำโครงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ และเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล
2. ความคิดสร้างสรรค์
ภาระงาน ชิ้นงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ผู้ทำโครงงานควรเป็นผู้เลือกหัวข้อหรือเรื่องที่จะทำโครงงานด้วยตนเอง โดยโครงงานที่ทำต้องไมซ้ำหรือมีผู้อื่นทำไว้แล้ว แต่หากผู้ทำโครงงานสนใจที่จะทำโครงงานที่มีผู้อื่นได้ศึกษาค้นคว้าหรือทำไว้แล้ว ผู้ทำโครงงานก็ควรจะคิดดัดแปลงแนวทางในการศึกษาค้นคว้า หรือพัฒนาโครงงานนั้นเพิ่มเติม
3. การปฏิบัติงาน
ผู้ทำโครงงานจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติภาระงาน ชิ้นงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ นั้นด้วยตนเอง โดยจะต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทั้งหมด ดังนั้นผู้ทำโครงงานจึงควรเลือกทำโครงงานที่ตนถนัดและสนใจ เพื่อให้สามารถทำโครงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากผู้ทำโครงงานขาดความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เกี่ยวกับโครงงานที่สนใจ ก็ควรศึกษา และค้นคว้าในด้านนั้น ๆ เพิ่มเติม
4. การวางแผน การสรุป และการนำเสนอโครงงาน
การทำโครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศ จะต้องมีการวางแผนเพื่อดำเนินการอย่างมีขั้นตอน มีการสรุปว่าผู้ทำโครงงานและผู้อื่นได้รับอะไรจากการทำโครงงาน มีข้อผิดพลาดในการทำโครงงานนี้อย่างไร และจะต้องนำเสนอโครงงานนั้น ๆ ให้แก่สาธารณะ ในการวางแผนทำโครงงาน ผู้ทำโครงงานสามารถใช้กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศแก้ปัญหาในการจัดทำโครงงาน และใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการนำเสนอและเผยแพร่โครงงาน
ขั้นตอนการทำโครงงาน
การทำโครงงานมีขั้นตอนดังนี้
1. การคัดเลือกหัวข้อโครงงาน
การคัดเลือกหัวข้อโครงงาน เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการทำโครงงาน เนื่องจากเป็นการกำหนดลักษณะต่าง ๆ ในการทำโครงงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ดังนั้นผู้ทำโครงงานควรพิจารณาการทำโครงงานจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- • ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้ทำโครงงาน พิจารณาได้จากผลการเรียน หรือผลงาน
- • ความถนัดและความสนใจของผู้ทำโครงงาน พิจารณาจากความชื่นชอบของผู้ทำโครงงาน ซึ่งถ้าผู้ทำโครงงานนั้นไม่มีความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์มาก่อน ผู้ทำโครงงานก็จะต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้ที่เกี่ยวกับโครงงานนั้นมากเป็นพิเศษ
- • ประโยชน์ที่ได้รับ โครงงานที่ทำควรเป็นโครงงานที่มีประโยชน์ต่อทั้งผู้ทำโครงงาน สังคม และประเทศชาติ สามารถนำไปพัฒนาและนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน
- • ความคิดสร้างสรรค์ โครงงานที่ทำควรมีลักษณะแปลกใหม่ ทันสมัย ใช้ได้จริง และยังไม่มีผู้อื่นทำไว้ หรือเป็นการนำโครงงานของผู้อื่นมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
- • ระยะเวลาทำโครงงาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ทำโครงงานต้องกำหนดก่อนการทำโครงงานจริง โดยวางแผนกำหนดระยะเวลาในการดำเนินโครงงานในขั้นตอนต่าง ๆ
- • ค่าใช้จ่ายในการทำโครงงาน การทำโครงงานในบางหัวข้อ ต้องใช้ต้นทุนสูงในการทำโครงงาน ดังนั้นผู้ทำโครงงานจึงควรวางแผนประเมินค่าใช้จ่าย และเลือกทำโครงงานที่มีทรัพยากรอยู่แล้ว เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำโครงงาน
- • ความปลอดภัย โครงงานที่จะทำต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้ทำโครงงาน สังคม และประเทศชาติ
- • ค่านิยมของสังคม การทำโครงงานนั้นจะต้องไม่ขัดต่อค่านิยม ศีลธรรม ความเชื่อ และวัฒนธรรมของสังคม
- • ความเป็นไปได้ ผู้ทำโครงงานต้องนำปัจจัยต่าง ๆ มาพิจารณาว่า โครงงานดังกล่าวสามารถทำได้จริงหรือไม่
ตัวอย่าง |
รศนาชื่นชอบการเรียนวิชาภาษาไทย เพื่อน ๆ มักจะขอร้องให้ช่วยสอนเทคนิคในการเรียนวิชาภาษาไทยอยู่เสมอ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต้องเรียนวิชาภาษาไทย เรื่อง คำบาลี และสันสกฤต ซึ่งมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาก หนังสือเรียนไม่น่าอ่าน รสนาคิดว่าถ้าทำให้หนังสือวิชาภาษาไทยน่าอ่านขึ้น เพื่อน ๆ น่าจะสามารถเข้าใจวิชานี้ได้ดีขึ้น จึงได้เสนอโครงงานเรื่อง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง คำบาลี-สันสกฤตในภาษาไทย |
2. การศึกษาค้นคว้า
เมื่อผู้ทำโครงงานเลือกหัวข้อที่จะทำโครงงานได้แล้ว ผู้ทำโครงงานจะต้องศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโครงงานนั้น โดยมีการแยกหัวข้อแหล่งข้อมูล และระยะเวลาในการศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษา
3. การจัดทำโครงร่างของโครงงาน
เมื่อผู้ทำโครงงานได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับโครงงานแล้ว ผู้ทำจะต้องจัดทำโครงร่างของโครงงาน เพื่อเสนอต่อครู-อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน โดยมีหัวข้อในโครงร่างนำเสนอดังต่อไปนี้
หัวข้อ
|
รายละเอียด
|
ชื่อโครงงาน | ทำโครงงานอะไร |
รายวิชา | เนื้อหาเกี่ยวกับวิชา |
ชื่อผู้ทำโครงงาน | ชื่อผู้รับผิดชอบ อาจเป็นรายบุคคล หรือรายกลุ่มได้ |
ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน | ครู-อาจารย์ผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงงาน |
ระยะเวลาดำเนินงาน | ระยะเวลาการดำเนินงานโครงงาน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด |
แนวคิด ที่มา และความสำคัญ วัตถุประสงค์ | สภาพปัจจุบันที่เป็นความต้องการ ความคาดหวังที่จะเกิดผล หรือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดการทำโครงงาน |
หลักการและทฤษฎี | หลักการและทฤษฎีที่นำมาใช้ในการพัฒนาโครงงาน |
วิธีดำเนินงาน | กิจกรรมหรือขั้นตอนการดำเนินงาน เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ สถานที่ งบประมาณ |
ขั้นตอนการปฏิบัติ | วัน เวลา และกิจกรรมดำเนินการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในวิธีดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ | สภาพของผลที่ต้องการให้เกิด ทั้งที่เป็นผลผลิต กระบวนการ |
เอกสารอ้างอิง | ชื่อเอกสาร ข้อมูลที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการดำเนินงาน |
ตัวอย่างการเขียนโครงร่างโครงงาน | |||||||
ชื่อโครงงาน | หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เรื่อง คำบาลี-สันสกฤตในภาษาไทย | ||||||
รายวิชา | เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร | ||||||
ชื่อผู้ทำโครงงาน | 1. เด็กหญิงรสนา รักษ์ภาษาไทย ชั้น ม.3/1 | ||||||
2. เด็กชายเก่งกาจ ปราชญ์สนเทศ ชั้น ม.3/1 | |||||||
3. เด็กหญิงพรรณนา สาธิต ชั้น ม.3/1 | |||||||
4. เด็กชายตั้งใจ จงเจริญ ชั้น ม.3/1 | |||||||
ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา | 1. ครูรักสอน ใจดี | ||||||
2. ครูอนุรักษ์ นิยมไทย | |||||||
ระยะเวลาดำเนินงาน | 1 เดือน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 | ||||||
รายละเอียดเกี่ยวกับโครงงาน | |||||||
แนวคิด ที่มา และความสำคัญของโครงงาน | |||||||
ปีการศึกษา 2555 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 ได้ศึกษาวิชาภาษาไทยในหัวข้อ คำบาลีและสันสกฤตในภาษาไทย เนื้อหาที่ค่อนข้างยาก หนังสือเรียนไม่น่าอ่าน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เรื่อง คำบาลีและสันสกฤตในภาษาไทย ซึ่งจะส่งเสริมการเรียนวิชาภาษาไทยในหัวข้อคำบาลีและสันสกฤตให้มีความน่าสนใจ | |||||||
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เรื่อง คำบาลี-สันสกฤตในภาษาไทย
2. เพื่อศึกษาคำบาลีและสันสกฤตในภาษาไทย
3. เพื่อศึกษาและสร้างงานจากโปรแกรม Flip Album
| |||||||
หลักการและทฤษฎี
1. การสังเกตคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
2. หลักการทำหนังสือ
3. การใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์เพื่อทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
| |||||||
ขั้นตอนการดำเนินงาน | |||||||
1. ปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเกี่ยวกับการใช้โปรแกรม Flip Album | |||||||
แผนการปฏิบัติงาน | |||||||
ลำดับที่
|
รายละเอียด
|
สัปดาห์ที่
| |||||
1
|
2
|
3
|
4
| ||||
1
| ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต | ⁄ | |||||
2
| ปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเกี่ยวกับการใช้โปรแกรม Flip Album | ⁄ | ⁄ | ||||
3
| จัดหาโปรแกรม Flip Album เตรียมคอมพิวเตอร์ให้พร้อมใช้งาน | ⁄ | |||||
4
| สร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เรื่อง คำบาลี-สันสกฤตในภาษาไทย | ⁄ | ⁄ | ||||
5
| นำเสนอโครงงาน | ⁄ | |||||
6
| จัดทำรายงานและคู่มือการใช้ | ⁄ | |||||
ผลที่คาดว่าจะได้รับ | |||||||
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เรื่องคำบาลีและสันสกฤตในภาษาไทยช่วยเพิ่มความน่าสนใจและทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น | |||||||
4. การทำโครงงาน
เป็นการลงมือทำโครงงานตามโครงร่างของโครงงานที่ได้วางแผนไว้ หลังจากเสนอโครงร่างของโครงงานต่อครู-อาจารย์ที่ปรึกษาแล้วได้รับความเห็นชอบว่าเหมาะสม สามารถปฏิบัติได้จริง โดยระหว่างการทำโครงงาน หากพบเห็นปัญหาหรืออุปสรรคในการทำ ผู้ทำโครงงานจะต้องจดบันทึกปัญหาและการแก้ปัญหาต่าง ๆ นอกจากนี้ผู้ทำโครงงานจะต้องขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ครู-อาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อตรวจสอบโครงงานเป็นระยะ ๆ ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงงาน
5. การทำรายงาน
การทำรายงานเป็นการรวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับโครงงาน เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นได้เข้าใจแนวคิด วิธีการดำเนินการค้นคว้าข้อมูลได้ ตลอดจนข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงงาน ในการเขียนรายงานควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ และตรงไปตรงมา ให้ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ 9 บทดังนี้
บทที่ 1 ส่วนนำ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับโครงงาน ประกอบด้วย ชื่อโครงงาน ชื่อสาขาโครงงาน ชื่อผู้ทำโครงงาน ชื่อครูที่ปรึกษาโครงงาน คำขอบคุณบุคคลหรือหน่วยงานที่มีส่วนทำให้โครงงานนี้สำเร็จ และบทคัดย่อ ซึ่งสรุปผลการทำโครงงานโดยย่อ
บทที่ 2 บทนำ เป็นส่วนรายละเอียดเนื้อหาของโครงงาน ได้แก่ แนวคิด ที่มา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ในการทำโครงงาน
บทที่ 3 หลักการและทฤษฎี เป็นส่วนสรุปข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าหาข้อมูล ทฤษฎี หลักการหรือวิธีการ ตลอดจนโครงงานอื่นที่นำมาเปรียบเทียบหรือพัฒนาเพิ่มเติม
บทที่ 4 วิธีดำเนินการ เป็นขั้นตอนการดำเนินงานโดยละเอียด ทุกขั้นตอน
บทที่ 5 ผลการดำเนินงาน เป็นการนำเสนอข้อมูลให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายด้วยการนำเสนอเป็นตาราง กราฟ ข้อความ หรือรูปแบบอื่น ๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจ
บทที่ 6 สรุปผลและข้อเสนอแนะ เป็นการสรุปข้อมูลที่ได้จากการทำโครงงาน รวมไปถึงปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาที่ผู้ทำได้จดบันทึกไว้ระหว่างทำโครงงาน
บทที่ 7 ประโยชน์และแนวคิดในการพัฒนา ผู้ทำโครงงานควรระบุประโยชน์ที่ได้รับ และแนวทางการนำโครงงานนี้ไปพัฒนา
บทที่ 8 บรรณานุกรมและภาคผนวก เป็นการรวบรวมแหล่งข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ในการทำโครงงาน
บทที่ 9 คู่มือการใช้งาน ในการทำโครงงานที่เป็นการสร้างชิ้นงานขึ้นมาใหม่ ควรจัดทำคู่มือ อธิบายวิธีการใช้ชิ้นงานนั้นโดยละเอียด
6. การนำเสนอและเผยแพร่โครงงาน
เป็นขั้นตอนที่ทำให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจถึงผลงานของผู้ทำโครงงาน ซึ่งสามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ เช่น รายงาน เอกสาร จัดนิทรรศการ หรือใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการนำเสนอ เช่น การใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์เพาเวอร์พอยต์ หรือทำเป็นเว็บเพจ ให้ผู้อื่นสามารถเข้าชมได้ทางอินเทอร์เน็ต
ตัวอย่างโครงงานที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
การเลือกทำโครงงาน ผู้ทำโครงงานจะต้องเลือกโครงงานที่ตนเองสนใจ มีความรู้ ความถนัด และความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับโครงงานและรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการทำโครงงาน เพื่อให้ได้โครงงานที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
ขอขอบคุณ http://www.nonsi.ac.th/~krutom/webpage/totaltext.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น